กระเทียมมีประโยชน์อย่างไร

กระเทียมจัดเป็นพืชสมุนไพรที่มีสารเคมีที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์มาก ซึ่งสารเคมีที่พบมากในกระเทียมมี 2 ประเภท คือ สารกำมะถัน (Organosulfur) และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ทว่าสารเคมีในกระเทียมจะไม่ออกฤทธิ์จนกระทั่งถูกทำให้มีน้ำมันออกมาไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม เช่น ปั่น สับ หั่น บีบ หรือ เคี้ยวด้วยเครื่องปั่น เพราะสารเคมีจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องอาศัยการทำปฏิกิริยาของเอนไซม์สองชนิดภายในกระเทียม คือ อัลลิอิน (Alliin) และอัลลิเนส (Allinase) เมื่อเราปอกเปลือกกระเทียมหรือเคี้ยวเอนไซม์ อัลลิเนสจะเปลี่ยนอัลลิอินให้เป็นอัลลิซิน (Allicin) ซึ่งสารอัลลิซินถือเป็นสารเคมีตัวสำคัญที่มีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรียและอาการอักเสบ

สารเคมีภายในกระเทียมที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมีดังนี้

  • ซัลเฟอร์ (Sulfur) สารกลุ่มนี้ทำหน้าที่ควบคุมคอเลสเตอรอลและไขมันในเส้นเลือด
  • แอนติ-เฮโมโลติกแฟคเตอร์ (Anti-Hemolytic Factor) ช่วยบำบัดอาการโลหิตจาง
  • แอนติ-อาร์ไธรทิสแฟคเตอร์ (Anti-Arthritis Factor) บรรเทาอาการโรคข้ออักเสบ
  • ชูการ์เรคกิวเลติ้งแฟคเตอร์ (Sugar Regulating Factor) ช่วยบำบัดโรคเบาหวาน
  • แอนติออกซิแดนท์แฟคเตอร์ (Anti Oxidant Factor) ต่อต้านการเกิดอนุมูลอิสระ
  • แอนติคัวกูแลนท์แฟค์เตอร์ (Anticoagulant Factor) ป้องกันไม่ให้เลือดจับตัวเป็นก้อน
  • อัลลิเธียมิน (Allithiamine) ช่วยเสริมสร้างพลังงานให้กับร่างกาย
  • ซีลีเนียม (Selenium) ต่อต้านอนุมูลอิสระ ควบคุมการทำงานของร่างกายให้เป็นปกติ

นอกจากกระเทียมจะอุดมไปด้วยสารเคมีที่เป็นประโยชน์แล้ว ยังมีวิตามินและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายมาก เช่น วิตามินเอ บี และซี รวมไปถึงแร่ธาตุหลายชนิด เช่น เหล็ก ฟอสฟอรัส ไนอะซิน นอกจากนี้ในกระเทียมสดยังพบสารอะดีโนซีน (Adenosine) ซึ่งช่วยเสริมสร้าง DNA และ RNA ของเซลล์ในร่างกาย
คุณค่าทางอาหารของกระเทียมยังมีอีกมากมาย ดังตารางแสดงคุณค่าทางอาหารของกระเทียมในปริมาณ 100 กรัม ซึ่งวิจัยโดยกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ดังนี้

ตารางแสดงคุณค่าทางอาหารของกระเทียมปริมาณ 100 กรัม

พลังงาน 140 กิโลแคลอรี
โปรตีน 5.6 กรัม
ไขมัน 0.1 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 29.1 กรัม
แคลเซียม 5 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 140 มิลลิกรัม
เหล็ก 5.4 มิลลิกรัม
วิตามินบี1 0.17 มิลลิกรัม
วิตามินบี2 0.02 มิลลิกรัม
ไนอะซิน 4 มิลลิกรัม
วิตามินซี 11 มิลลิกรัม
ใยอาหาร 4.7 กรัม